นายชูฉัตร  ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในหลายจังหวัดพื้นที่ภาคเหนือ ปัจจุบันสถานการณ์ยังคงขยายตัวออกไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ของประเทศ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) และภาคธุรกิจประกันภัยได้ลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือประชนชนและผู้เอาประกันภัยที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยทุกภาคส่วนได้ระดมกำลังให้การช่วยเหลือและป้องกันเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นการรับมือกับสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน สำนักงาน คปภ. จึงได้หารือเป็นการเร่งด่วน เกี่ยวกับมาตรการ “เตรียมความพร้อมภาคธุรกิจประกันภัยในการรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม” โดยมี สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน (THAIFA) สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย สมาคมการค้าผู้สำรวจและประเมินวินาศภัยไทย สมาคมผู้ประเมินวินาศภัย รวมถึงบริษัทประกันวินาศภัยและบริษัทประกันชีวิต โดยออกมาตรการเร่งรัดเพื่อช่วยเหลือผู้เอาประกันภัย ผู้ประกอบการ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งในเรื่องการเคลมประกันภัย และการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั้งระยะสั้นและระยาว ดังนี้

          มาตรการที่ ๑ การดูแลสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยที่ได้รับผลกระทบ โดยสำนักงาน คปภ. ร่วมกับบริษัทประกันภัยจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือด้านการประกันภัยขึ้นในแต่ละจังหวัดเพื่อติดตาม เร่งรัดการตรวจสอบความเสียหายของทรัพย์สินที่ถูกน้ำท่วม เพื่อให้การพิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นไปอย่างถูกต้อง และรวดเร็ว นอกจากนี้ ได้มีการลงพื้นที่เพื่อมอบสิ่งของช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง

 

          มาตรการที่ ๒ การรองรับกรณีพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ โดยเฝ้าติดตามและประเมินพื้นที่ที่คาดการณ์ว่าจะมีน้ำท่วมเพิ่มเติมเพื่อเตรียมรองรับด้านการประกันภัย และการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม เช่น การอำนวยความสะดวกโดยการจัดหาที่จอดรถยนต์บนพื้นที่สูง การเคลื่อนย้ายสิ่งของ หรืออุปกรณ์เครื่องจักรเพื่อป้องกันความเสียหาย การจัดส่งทีมผู้ประเมินความเสียหายลงสำรวจพื้นที่โดยเร็ว พร้อมอำนวยความสะดวกในการขอรับค่าสินไหมทดแทน ให้คำแนะนำขั้นตอนการขอรับค่าสินไหมทดแทนและเร่งรัดการจ่ายค่าสินไหมทดแทน รวมทั้งสนับสนุนด้านการซ่อมแซมยานพาหนะ การฟื้นฟูที่พักอาศัย และสถานประกอบการที่ได้รับความเสียหาย รวมถึงเปิดรับแจ้งเหตุและให้ข้อมูลในช่องทาง Hotline , Online และพร้อมเข้าช่วยเหลือชุมชนผู้ประสบอุทกภัย รวมทั้งสนับสนุนหน่วยงานในจังหวัด และหน่วยงานเครือข่าย

มาตรการที่ 3  การรับมือกับสถานการณ์ช่วงฤดูฝน ปี พ.ศ. 2567 เนื่องจากการคาดการณ์ของหน่วยงานต่าง ๆ พบว่าปรากฏการณ์ลานีญาจะส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักในช่วงปี 1-2 ปีนี้ ดังนั้น การรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวของภาคธุรกิจประกันภัย ต้องครอบคลุมทั้งการจัดการความเสี่ยง การให้ความช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยและประชาชน รวมถึงการจัดการสินไหมทดแทน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับบทบาทของธุรกิจประกันภัย ในการเป็นเครื่องมือป้องกันความเสียหายเชิงเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือของสำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัย เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยและประชาชนในนาม “ภาคประกันภัย” จึงได้ร่วมกันจัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานด้านการประกันภัย” เพื่อบูรณาการการทำงานของสำนักงาน คปภ. และภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ในการทำงานเชิงรุกสำหรับสถานการณ์อุทกภัย ปี 2567 ซึ่งพร้อมจะเข้าช่วยเหลือประชาชนทั่วประเทศ

          เลขาธิการ คปภ. กล่าวเสริมว่าขอฝากความห่วงใยถึงพี่น้องประชาชนให้ระมัดระวังการขับขี่ยานพาหนะบริเวณน้ำท่วมไหลผ่านทางที่สัญจร และอันตรายจากกระแสไฟฟ้าลัดวงจรในช่วงน้ำท่วม และขอให้ประชาชนตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัย เช่น การประกันภัยรถยนต์ การประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน การประกันอัคคีภัยที่ซื้อความคุ้มครองน้ำท่วมเพิ่มเติม และการประกันภัยพืชผลทางการเกษตร โดยสามารถรวบรวมหลักฐานความเสียหาย ยื่นขอเบิกค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยด้านการประกันภัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน คปภ. 1186 หรือสำนักงาน คปภ. ภาค และสำนักงาน คปภ. จังหวัดทั่วประเทศ