บริษัทหลายแห่งในไทยได้หันมาทบทวนแผนในการหาพื้นที่สำนักงานที่มีคุณสมบัติและขนาดที่เหมาะสม ในขณะที่บริษัทส่วนใหญ่ในเอเชียแปซิฟิกยังคงจะใช้การทำงานแบบไฮบริดต่อไป แม้ว่าพนักงานจะกลับไปทำงานที่สำนักงานแล้ว หลังจากประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคผ่อนคลายข้อจำกัดเรื่องโควิด–19 อ้างอิงจากรายงานล่าสุดของซีบีอาร์อี
นางสาวมณีรัตน์ วิจิตรรัตนะ ผู้อำนวยการอาวุโส แผนกพื้นที่สำนักงาน ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวว่า “ในประเทศไทย บริษัทส่วนใหญ่ให้พนักงานกลับเข้ามาทำงานในสำนักงานแล้ว แต่การกลับเข้าสำนักงานในครั้งนี้จะไม่เหมือนกับชีวิตการทำงานที่เราต่างคุ้นเคยในช่วงก่อนเกิดโรคระบาด สิ่งสำคัญที่ในสำนักงานได้เปลี่ยนไปสู่การรองรับการทำงานแบบไฮบริด ตั้งแต่การเปลี่ยนขนาดและฟังก์ชั่นของพื้นที่สำนักงานในสาขาต่างๆ ไปจนถึงการนำสิ่งใหม่ๆ มาใช้ในสำนักงาน เช่น โต๊ะทำงานแบบหมุนเวียน (Hot Desk) และเทคโนโลยีต่างๆ สำหรับสำนักงานอัจฉริยะ แต่ทั้งนี้ไม่มีกลยุทธ์สำเร็จรูปใดที่ใช้ได้กับทุกบริษัท มาตรการต่าง ๆ นั้นสามารถปรับเปลี่ยนให้แตกต่างกันไปตามภูมิภาค อุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งแต่ละทีมในบริษัทเดียวกัน”
“บริษัทที่เคยวางแผนที่จะใช้รูปแบบการทำงานจากที่บ้านเพียงอย่างเดียวกำลังหันกลับมาทบทวนแนวทางอีกครั้ง เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในสำนักงานสามารถส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างทีมต่าง ๆ และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน รวมถึงส่งเสริมวัฒนธรรมของบริษัทให้แข็งแกร่ง และทำให้บริษัทบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจได้”
นอกจากนี้ การสำรวจความคิดเห็นของบริษัทในเอเชียแปซิฟิกมากกว่า 150 แห่งโดยแผนกวิจัย ซีบีอาร์อี พบว่า บริษัทเกือบ 60% คาดว่าจะใช้การทำงานแบบไฮบริดในรูปแบบที่แตกต่างกันไป ตั้งแต่การทำงานในสำนักงานควบคู่ไปกับการทำงานนอกสำนักงานในสัดส่วนที่เท่ากันมี 28% การทำงานส่วนใหญ่ในสำนักงานคิดเป็น 24% ไปจนถึงการทำงานนอกสำนักงานเป็นส่วนใหญ่หรือทำงานนอกสำนักงานทั้งหมดมีเพียง 5% ทั้งนี้บริษัทที่ร่วมตอบแบบสอบถามเกือบ 40% คาดหวังให้พนักงานทำงานอย่างเต็มรูปแบบในสำนักงาน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิม 26% ในปี 2564 ตัวเลขดังกล่าวแตกต่างอย่างมากกับบริษัทในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ตะวันออกกลาง และอัฟริกา (EMEA) ที่มีบริษัทเพียง 5% หรือต่ำกว่านั้นที่คาดหวังให้พนักงานทำงานอย่างเต็มรูปแบบในสำนักงาน
ความนิยมการทำงานในสำนักงานของบริษัทในเอเชียแปซิฟิกที่อยู่ในระดับสูงเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ดีในระยะยาวว่าจะยังคงมีความต้องการพื้นที่สำนักงาน โดยเกือบครึ่งของบริษัทที่ตอบแบบสอบถามตั้งใจที่จะเพิ่มพื้นที่ในช่วงสามปีข้างหน้า ในขณะบริษัทข้ามชาติ 59% วางแผนที่จะขยายพื้นที่ในปีนี้ โดยเพิ่มขึ้นจาก 33% ในปี 2564
นอกจากนี้ การสำรวจยังเผยให้เห็นว่าการจัดให้มีที่นั่งทำงานประจำลดลงอย่างมาก เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนไปเป็นที่นั่งทำงานแบบยืดหยุ่นและเป็นพื้นที่ทำงานตามรูปแบบการทำงาน (Activity-based Workplace) ในช่วงก่อนเกิดโรคระบาด บริษัท 58% มีที่นั่งทำงานตายตัว แต่หลังเกิดโรคระบาด มีบริษัทเพียง 28% เท่านั้นที่ยังคงใช้การจัดที่นั่งรูปแบบดังกล่าว การจัดการพื้นที่ของบริษัทแตกต่างกันไปในแต่ละอุตสาหกรรม โดยที่ธุรกิจด้านการเงินมีการยกเลิกการใช้ที่นั่งประจำที่มากที่สุด ขณะที่บริษัทที่ให้บริการเฉพาะด้าน (Professional Service) มีแนวโน้มที่จะคงที่นั่งประจำไว้มากกว่า สำนักงานกฎหมายบางแห่งจะเพิ่มห้องทำงานส่วนตัวที่หมุนเวียนกันใช้สำหรับงานที่เป็นความลับ
การทำงานแบบไฮบริดมาใช้จะต้องอาศัยสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัยทั้งในด้านกายภาพ ด้านคุณภาพชีวิต และด้านดิจิทัล โดย 64% ของผู้ตอบแบบสอบถามต้องการพื้นที่เปิดโล่งและยืดหยุ่น 52% ต้องการคุณภาพอากาศภายในที่ดี และ 35% ต้องการเทคโนโลยีไร้สัมผัส โดยบริษัทประมาณ 60% ตั้งใจที่จะเพิ่มการลงทุนด้านเทคโนโลยีในสำนักงานเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้แก่พนักงาน
“เทคโนโลยีจะเป็นปัจจัยสำคัญและศูนย์กลางในการผลักดันการทำงานแบบไฮบริด เช่น เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการประชุม ซึ่งรองรับการประชุมแบบไฮบริด ควบคู่กับโซลูชันในการติดตามการใช้พื้นที่สำนักงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในการสร้างสถานที่ทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงที่เป็นการผสมผสานระหว่างกายภาพและดิจิทัล หรือที่เรียกว่า Phygital (Physical + Digital) นั้น ผู้เช่าจะต้องมีการลงทุนที่สูง รวมถึงการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานภายในและทีมงานที่ดูแลรับผิดชอบด้านอสังหาริมทรัพย์ของบริษัท” นางสาวเอดา ชอย หัวหน้าแผนก Occupier Research และ Data Intelligence and Management ซีบีอาร์อี เอเชียแปซิฟิก กล่าว