ลลิลฯ ชี้ปี 67 ตลาดอสังหาฯ ยังมีความท้าทายจากหลายปัจจัย ประกาศแผนธุรกิจปี Year of Competitive Survival with Quality and Lean เดินหน้าขยายธุรกิจมุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน รุกเปิดโครงการใหม่ต่อเนื่องอีก 8 – 12 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 7,000 – 8,000 ล้าน พร้อมตั้งเป้ายอดขายที่ 6,550 ล้าน และยอดรับรู้รายได้ที่ 5,250 ล้าน
นายไชยยันต์ ชาครกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) (LALIN) กล่าวถึงภาพรวมของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ที่ผ่านมาว่า โลกยังคงต้องเผชิญความเสี่ยงที่ต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ประเด็นขัดแย้งที่ก่อเกิดขึ้นเป็นระยะในหลายภูมิภาค การพยายามควบคุมเงินเฟ้อ โดยการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ยุโรป โดยเฉพาะเฟดมีการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องจนมาอยู่ที่ระดับ 5.25% – 5.50% ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบกว่า 20 ปี ส่งผลให้ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงต่อเนื่องจากปี 2565 โดยในปี 2566 ทั่วโลกทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย เศรษฐกิจเติบโตต่ำกว่าที่มีการคาดการณ์จากทั้งจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank) ขณะที่ปี 2567 มีการคาดการณ์ว่าฝั่งสหรัฐอเมริกา ยุโรป เศรษฐกิจจะเติบโตลดลง ขณะที่ฝั่งเอเชียเศรษฐกิจจะเติบโตดีขึ้น
สำหรับเศรษฐกิจของประเทศไทย ทั้ง IMF และ World Bank ต่างคาดการณ์ว่าน่าจะผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในปี 2566 และในปี 2567 สถานการณ์น่าจะดีขึ้น โดย IMF คาดว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตราว 2.7% และ World Bank คาดว่าจะเติบโต 2.5%
“ในส่วนของเศรษฐกิจไทยซึ่งมีการพึ่งพิงต่างประเทศอย่างมาก ทั้งจากการส่งออก การท่องเที่ยว รวมถึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งในปี 2566 ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ ยุโรป ตลอดจนประเทศจีน ส่งผลให้การส่งออกของไทยทั้งปีน่าจะหดตัวที่ราว 1.5% ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยว แม้จะสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องจากปี 2565 แต่ก็เป็นการขยายตัวได้ต่ำกว่าเป้าหมาย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่ยังไม่กลับมา ในส่วนของการบริโภคและการลงทุนภาครัฐ ก็หดตัวลงจากจัดตั้งรัฐบาล และการจัดทำงบประมาณที่ล่าช้า ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ขยายตัวได้ต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้มาก”
“สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2567 นี้ คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ราว 2.5% – 3.5% อย่างไรก็ตามยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง ทั้งปัจจัยจากต่างประเทศและในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในหลายประเทศสำคัญทั่วโลก มาตรการกระตุ้นและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ในขณะที่ภายในประเทศ ภาระหนี้สาธารณะ และภาระหนี้ครัวเรือนที่ค่อนข้างสูง ยังคงเป็นความท้าทายสำหรับในปี 2567 นี้ อย่างไรก็ดีมองว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ในปี 2567 นี้ ยังคงมีปัจจัยบวก ไม่ว่าจะเป็นการที่อัตราดอกเบี้ยเริ่มนิ่ง และมีแนวโน้มที่จะปรับลดลงได้ในช่วงครึ่งหลังของปี จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย การต่ออายุมาตรการภาครัฐ ลดค่าธรรมเนียมการโอน และค่าธรรมเนียมจำนอง สำหรับที่อยู่อาศัยที่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ไปถึงสิ้นปี 2567 การส่งออกและการท่องเที่ยวที่น่าจะดีขึ้น รวมถึงการเข้ามาลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น จะช่วยให้เกิดการจ้างงาน และเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ” นายไชยยันต์ กล่าว
นายไชยยันต์ ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่อไปอีกว่า สำหรับในภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย พบว่าในช่วง 11 เดือนของปี 2566 ตัวเลขการโอนกรรมสิทธิ์ลดลง 8.9% เมื่อทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 และลดลงมากถึง 28.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 โดยในส่วนของคอนโดมิเนียม พบว่าการโอนกรรมสิทธิ์ในช่วง 11 เดือนของปี 2566 ลดลง 6.8 % เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 และลดลงมากถึง 37.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 ส่วนตลาดแนวราบ พบว่าการโอนกรรมสิทธิ์ในช่วง 11 เดือนของปี 2566 ลดลง 11.0 % เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 และลดลงมากถึง 37.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562
“สำหรับลลิลได้เคยผ่านวิกฤตในปี 2540 ซึ่งเป็นวิกฤตที่หนักมากมาแล้ว และเราไม่เคยมีสถานะหนี้เสีย Non-Performing Loan (NPL) เลย สำหรับในปีปี 2567 ซึ่งเป็นปีที่มีความท้าทาย ลลิลจะดำเนินงานภายใต้แนวคิด Year of Competitive Survival with Quality and Lean หรือการมีศักยภาพในการแข่งขันเพื่อความอยู่รอด โดยให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพของสินค้าและการบริหารจัดการ รวมทั้งการขยายธุรกิจแบบมีสุขภาพที่ดีและมีความยืดหยุ่น” นายไชยยันต์ กล่าว
ทั้งนี้ สำหรับในปี 2567 นายไชยยันต์ เปิดเผยว่าบริษัทได้วางงบในการซื้อที่ดินไว้ที่ 1,500 ล้านบาท โดยมีแผนเปิดโครงการเพิ่มเติมที่ 8 – 12 โครงการ มูลค่ารวม 7,000 – 8,000 ล้านบาท และตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 6,550 ล้านบาท ยอดรับรู้รายได้ที่ 5,250 ล้านบาท ลดลงนิดหน่อยจากปี 2566 ซึ่งในการเปิดตัวโครงการใหม่ มีแผนที่ชัดเจนใน 6 เดือนแรก ซึ่งจะเปิดแน่นอน 6 โครงการ หลังจากนั้นบริษัทจะประเมินเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองไทยก่อนว่าจะเปิดโครงการใหม่เพิ่มเติมอีกกี่โครงการในช่วงครึ่งปีหลัง นอกจากนั้นแต่ละโครงการที่เปิดตัวก็จะมีขนาดเล็กลงขนาด บนที่ดินแปลงละประมาณ 20-30 ไร่ จากเดิมที่บางแปลงอาจมีขนาดใหญ่ถึง 100 ไร่ เพื่อให้สามารถปิดจบโครงการและได้กระแสเงินสดกลับมาอย่างรวดเร็ว รวมทั้งมีการกระจายการพัฒนาโครงการออกไปในทำเลต่างๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงอีกด้วย
ด้านนายชูรัชฏ์ ชาครกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) (LALIN) กล่าวว่า ในปีนี้ ลลิลฯ ยังคงเน้นย้ำแนวคิดในการดำเนินธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และการดำเนินธุรกิจตามหลักบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance : ESG) นอกจากนี้ ยังคำนึงถึงปัจจัยการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการประหยัดพลังงานไฟฟ้าและน้ำ การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งมอบสินค้าและบริการให้ลูกค้าได้รับคุณภาพวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และสังคมที่ดี ซึ่งเป็นไปตามวิสัยทัศน์ของทางบริษัท
สำหรับแผนการตลาด ในปี 2567 นี้ ยังคงมุ่งเน้นกลยุทธ์ที่ให้ความสำคัญกับลูกค้าโดยยึดหลัก Customer Centric ผ่านกลยุทธ์ทั้ง Lifestyle Marketing และ Experience Marketing เสริมประสิทธิภาพด้วยการสร้างภาพลักษณ์แบรนด์ โดยการทำ Brand collaboration เพื่อเพิ่มฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ อีกทั้งสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในทุกกลุ่มเป้าหมายด้วย นอกจากนี้ ยังเน้นการทำการตลาดผ่านช่องทาง Digital ในช่องทางใหม่ให้หลากหลายมากขึ้น เพื่อตอบรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน ทั้งยังส่งเสริมให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นด้วย การนำ Big Data มาใช้ในการวิเคราะห์หา Customer Insights ทั้งนี้ บริษัทยังคงมุ่งสู่การเป็นองค์กรพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่บริหารงานภายใต้แนวคิด Agile Principles โดยใช้กลยุทธ์ด้านดิจิทัลเป็นเครื่องมือสำคัญในการเปลี่ยนแปลง (Digital transformation) นอกจากนี้ บริษัทฯให้ความสำคัญกับตลาดที่อยู่อาศัยในกลุ่มที่เป็น Real Demand โดยให้ความสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งในส่วนของ Design Innovation และ Smart & Flexible Function ของตัวบ้าน และยังคงนำรูปแบบความงดงามของสถาปัตยกรรมฝรั่งเศสที่เรียบหรู มาออกแบบบ้านสไตล์ฝรั่งเศสแบบ French Colonial Style ซึ่งเป็นจุดเด่นสำคัญของบริษัทฯที่เป็นรายแรกในการนำมาพัฒนาออกแบบบ้านในสไตล์ดังกล่าว บนทำเลศักยภาพ ในราคาที่คุ้มค่า และจับต้องได้ เพื่อให้สินค้าและบริการสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้อยู่เสมอ
ในส่วนของสถานะทางการเงิน บริษัทดำรงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) เพียง 0.76 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวมของอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ 1.45 เท่า ค่อนข้างมาก โดยบริษัทมีการใช้แหล่งเงินทุนที่หลากหลาย และการบริหารความเสี่ยงทางการเงินอย่างรัดกุมมาโดยตลอด จึงได้รับความเชื่อมั่นจากสถาบันการเงิน ทั้งธนาคารพาณิชย์ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ต่างๆ จึงไม่ประสบปัญหาในเรื่องของแหล่งเงินทุน โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทได้มีการออกขายหุ้นกู้อายุ 2 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.80% ซึ่งได้รับการตอบรับจากสถาบันเข้าลงทุนเต็มจำนวนที่ 500 ล้านบาท
นายชูรัชฏ์ ยังได้ให้ข้อมูลถึงผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2566 อีกว่า สามารถทำยอดขายได้ 6,500 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ขณะในช่วง 11 เดือนของปี 2566 บริษัทมียอดขายรอโอน (backlog) 900 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถรับรู้รายได้ทั้งหมด 900 ล้านบาท ในปี 2566