ลลิลฯ เผยเผยผลการดำเนินงานปี 64 ดีกว่าเป้า พร้อมประกาศแผนธุรกิจปี 2565 เดินหน้าขยายธุรกิจ มุ่งสู่การเป็น National Housing Company และผู้นำของตลาดอสังหาริมทรัพย์แนวราบของประเทศ โดยในปี 2565 เตรียมเปิดโครงการใหม่ 10 – 12 โครงการ มูลค่ารวม 7,000 – 8,000 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้ายอดขายที่ 8,500 ล้านบาท และยอดรับรู้รายได้ที่ 7,200 ล้านบาท เติบโตต่อเนื่อง 10% จากผลงานที่โดดเด่นในปีที่ผ่านมา
นายไชยยันต์ ชาครกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) (LALIN) กล่าวว่า ปี 2564 เป็นปีที่เกิดรูปแบบการฟื้นตัวที่ขาดสมดุลขึ้น หรือการฟื้นตัวแบบ K-Shaped เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของหลายประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมีการฟื้นตัวได้ดี โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2564 จะกลับมาขยายตัวได้ราว 5.9% จากที่หดตัว 3.1% ในปี 2563 ในขณะที่เศรษฐกิจของอีกหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยมีการฟื้นตัวที่ช้า โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะขยายตัวได้เพียงเล็กน้อยที่ราว 1% จากที่หดตัวถึง 6.1% ในปี 2563 ซึ่งเป็นประเด็นที่น่ากังวล
สำหรับปี 2565 นี้ คาดว่าเศรษฐกิจโดยรวมของไทยจะขยายตัวได้ราว 3 – 4% ซึ่งถือว่ายังไม่กลับไปสู่ระดับปกติในช่วงก่อนเกิดการะบาด ทั้งนี้ เศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงในเรื่องของการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ ตลอดจนการเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อทั่วโลก นำไปสู่การเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในหลายประเทศ ในขณะที่กำลังซื้อภายในประเทศยังอ่อนแอจากผลกระทบของการระบาด ระดับหนี้ครัวเรือนที่ทรงตัวในระดับสูง และความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์
นายไชยยันต์ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงตลาดอสังหาริมทรัพย์ต่อไปอีกว่า ในปี 2564 พบว่าการจดทะเบียนที่อยู่อาศัยในส่วนของการจัดสรรลดลง 39% อสังหาริมทรัพย์แนวราบโดยรวมลดลง 10.6% และหากแยกประเภท จะพบว่าอสังหาริมทรัพย์แนวราบในกลุ่มบ้านเดี่ยวลดลง -3% บ้านแฝดเพิ่มขึ้น 20% และทาวน์เฮาส์ลดลง 17% ขณะที่ในส่วนอาคารชุดลดลงที่ 51% โดยคาดว่าปี 2564 เป็นปีที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว และในปี 2565 ตลาดน่ากลับมาจะฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจไทย โดยคาดว่าอสังหาริมทรัพย์ทั้งในส่วนของอาคารชุดและแนวราบน่าจะเติบโตได้ในระดับ 10% โดยมีปัจจัยสนับสนุนได้แก่การเติบโตด้าน GDP ของไทย และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ไม่ร้ายแรงเท่า 2 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งการต่ออายุมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน และค่าธรรมเนียมจำนอง สำหรับที่อยู่อาศัยที่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทออกไปจนถึงสิ้นปี 2565 การผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Loan-to-Value: LTV) จากธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงการที่ตลาดแนวราบยังได้แรงหนุนจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนจากความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยแนวสูงมาเป็นที่อยู่อาศัยแนวราบ
ด้านผลการดำเนินงานของบริษัท นายไชยยันต์ ให้ข้อมูลว่า ในปี 2564 แม้จะเป็นปีที่ต้องเผชิญความท้าทายจากหลายปัจจัย แต่ลลิลฯ ซึ่งเน้นการทำตลาดแนวราบที่เป็น Real Demand และเป็นตลาดที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่ากลุ่มอื่น ประกอบกับการนำเสนอโครงการที่เข้าถึง Customer Insight อย่างแท้จริง ทั้งการคัดสรรทำเลที่มีศักยภาพ และมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการสร้างความสามารถในการแข่งขันในด้านต่างๆ อย่างมุ่งมั่น ส่งผลให้บริษัทยังคงมีผลประกอบการที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง และสามารถทำผลงานได้ดีกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้เมื่อช่วงต้นปี 2564
สำหรับในปี 2565 มองว่าแม้สภาวะเศรษฐกิจ และสภาวะอุตสาหกรรมจะยังไม่เอื้ออำนวยมากนัก แต่บริษัทยังมีความเชื่อมั่นในแผนกลยุทธ์ การบริหารงาน และความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะในตลาดแนวราบของบริษัท จึงมั่นใจว่าจะเป็นอีกปีที่จะสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง เดินหน้าสู่การเป็น National Housing Company และก้าวสู่การเป็น 1 ใน 5 แบรนด์แรกของผู้นำตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยที่ผู้บริโภคนึกถึงเมื่อมองหาที่อยู่อาศัยแนวราบในช่วงราคา 2 – 8 ล้านบาท โดยพร้อมขยายโครงการเพิ่มเติมอีก 10 – 12 โครงการ มูลค่ารวม 7,000 – 8,000 ล้านบาท ในทำเลกรุงเทพฯ-ปริมณฑลเกือบทั้งหมด และตั้งเป้าหมายยอดขายสำหรับปี 2565 นี้ไว้ที่ 8,500 ล้านบาท ยอดรับรู้รายได้ที่ 7,200 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตต่อเนื่องเพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อนที่หน้า ทั้งนี้ บริษัทจะเติบโตด้วยระมัดระวัง มีการควบคุมความเสี่ยง ใช้กลยุทธ์ในการทำงานที่ถูกต้อง มีการควบคุมการกระแสเงินสด และค่าใช้จ่ายต่างๆ ของบริษัทให้เป็นไปตามแผนงาน
ด้านนายชูรัชฏ์ ชาครกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) (LALIN) กล่าวว่า ในปี 2564 บริษัทมีผลการดำเนินงานในส่วนของยอดขายดีกว่าเป้าหมายมี่ตั้งไว้ โดยสามารถทำยอดขายได้ 7,800 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งเป้าเอาไว้ที่ 7,000 ล้านบาท ถึง 10-11% ขณะที่ยอดโอนกรรมสิทธิ์ก็เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งนี้เนื่องจากกลยุทธ์การทำงานที่ถูกต้อง แม่นยำ มีการปรับตัวอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนการทำการตลาดที่เน้นกลุ่มลูกค้า Real Demand เป็นหลัก
สำหรับในปี 2565 ลลิลฯ จะมีการต่อยอดการใช้กลยุทธ์ด้าน Digital Marketing เพิ่มมากขึ้น เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างมีศักยภาพและตรงตามไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน โดยได้นำ Big Data มาใช้ในการวิเคราะห์เกี่ยวกับ Customer Insight เพื่อนำเสนอรูปแบบผลิตภัณฑ์และการบริการที่เข้าถึง และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างแม่นยำ รวมไปถึงการยกระดับการบริหารจัดการระบบสารสนเทศภายในองค์กร โดยนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารงานในทุกภาคส่วนในองค์กร เพื่อยกระดับสู่ Digital Company อย่างเต็มรูปแบบ
สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทในปี 2565 จะยังคงให้ความสำคัญกับตลาดที่อยู่อาศัยในกลุ่มแนวราบที่เป็น Real Demand ซึ่งตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้บริโภคในยุค New Normal ได้ดีกว่า ซึ่งบริษัทให้ความสำคัญอย่างมากในการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ทั้งในเรื่องความสวยงามด้านการออกแบบ และฟังก์ชันการใช้ชีวิต
นายชูรัชฏ์ กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า “ในส่วนภาพรวมสถานะด้านการเงิน กล่าวได้ว่าบริษัทมีความแข็งแกร่งอย่างมาก โดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) เพียง 0.6 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวมของอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ 1.4 – 1.5 เท่า รวมทั้งมีกระแสเงินสดสำรองเพื่อรองรับการขยายธุรกิจอีกกว่า 1,000 ล้านบาท โดยในปี 2565 นี้ บริษัทได้จัดสรรงบในการซื้อที่ดินไว้ประมาณ 1,100 – 1,300 ล้านบาท และพร้อมปรับเพิ่มให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อรองรับการขยายธุรกิจตามแผนงาน และการเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัท”