สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านเผยตลาดรับสร้างบ้านปี 65 มีแนวโน้มเติบโตดี ชี้เร่งสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจ ล่าสุดผนึกความร่วมมือคณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำ “มาตรฐานการก่อสร้างบ้านพักอาศัย” ยกระดับคุณภาพบริการรับสร้างบ้าน ตอกย้ำความเชื่อมั่นผู้บริโภค เตรียมประกาศใช้ภายในสิ้นปีนี้

นายวรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (Home Builder Association : HBA) กล่าวถึงภาพรวมของตลาดรับสร้างบ้านว่า จากผลการจัดงานรับสร้างบ้านและวัสดุ Expo 2022 ในช่วงวันที่ 14-18 กันยายน ที่ผ่านมา พบว่ามียอดจองปลูกสร้างบ้าน เป็นมูลค่า 4,300 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 18 ปี เติบโต 27% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งเกินกว่าทางที่สมาคมคาดหมายไว้ ทำให้มีการปรับประมาณการการเติบโตของตลาดรับสร้างบ้านในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในปี 2565 เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะมีมูลค่ามากกว่า 13,000 ล้านบาท จากที่เคยคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 12,000 ล้านบาท

สำหรับราคาบ้านที่มียอดจองปลูกสร้างบ้านมากที่สุดรับสร้างบ้านและวัสดุ Expo 2022 ยังคงอยู่ในกลุ่มบ้านราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 40% ของยอดจองภายในงาน แต่หากเปรียบเทียบจากข้อมูลการจองปลูกสร้างบ้านในปี 2564 พบว่าผู้จองปลูกสร้างบ้านในระดับราคา 2.5-5 ล้านบาท ปรับตัวลดลงมากที่สุดถึง 15% ในขณะที่บ้านในระดับราคา 10-20 ล้านบาท มีปริมาณเพิ่มขึ้นถึง 28% และบ้านในระดับ 20 ล้านบาทขึ้นไป มีปริมาณความต้องการเพิ่มขึ้น 13%

นายวรวุฒิ กล่าวต่อไปอีกว่า นับตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งนายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เรื่องหลักๆ ที่หยิบยกขึ้นมาพิจารณาก็คือการสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจรับสร้างบ้าน ทั้งนี้ ตลาดบ้านสร้างเองมีมูลค่าประมาณ 200,000 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ปัญหาที่ผู้บริโภคพบบ่อยคือโดนทิ้งงาน หรือได้บ้านที่ไม่มีคุณภาพ ซึ่งในด้านคุณภาพของงานเป็นเรื่องของความรู้สึก โดยไม่เคยมีข้อกำหนดว่ามาตรฐานอยู่ตรงจุดใด

 “จากแนวโน้มธุรกิจรับสร้างบ้านที่ขยายตัว ในอีกด้านทางสมาคมฯ ก็ได้เร่งพัฒนาคุณภาพให้กับบริษัทรับสร้างบ้านที่เป็นสมาชิกเพื่อรับรองการเติบโตของธุรกิจ ผ่านกิจกรรมอบรม เพิ่มความรู้และทักษะต่างๆ ทำให้พบว่าในภาพรวมยังมีปัญหาจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของลูกค้าในด้านคุณภาพ และได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นแนวคิดการพัฒนามาตรฐานก่อสร้างบ้านพักอาศัย ที่จะใช้เป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาคุณภาพของงานก่อสร้างบ้านต่อจากนี้ไป โดยมาตรฐานการก่อสร้างบ้านพักอาศัยนี้จะเริ่มใช้กับบริษัทสมาชิกก่อน” นายวรวุฒิ กล่าว

ทั้งนี้ ทางสมาคมฯ จึงมีความตั้งใจพัฒนา “มาตรฐานการก่อสร้างบ้านพักอาศัย สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน” ขึ้นเพื่อกำหนดเป็นมาตรฐานการทำงานและความเข้าใจด้านคุณภาพที่ตรงกันระหว่าง “บริษัทรับสร้างบ้าน” กับ “ผู้บริโภค” เนื่องจากสมาคมฯ ได้มีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านกับภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รวบรวมพันธมิตรภาคส่วนวิชาการอื่นๆ และภาคเอกชนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งคณะทำงานเพื่อร่วมกันศึกษาและดำเนินการจัดทำ “มาตรฐานการก่อสร้างบ้านพักอาศัย” ขึ้น ภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อสร้างมาตรฐานและยกระดับการทำงานให้แก่สมาชิกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

นายวรวุฒิ กล่าวว่า ในระยะเวลา 3 ปีของการทำงานพัฒนา “มาตรฐานการก่อสร้างบ้านพักอาศัย สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน” นั้น ทั้งสมาคมฯ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เข้ามาร่วมพัฒนามาตรฐานการก่อสร้างบ้านพักอาศัย เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพของการก่อสร้างบ้านให้มีมาตรฐานที่เหมาะสมกับงานก่อสร้างบ้าน โดยศึกษาปัญหาของงานก่อสร้างบ้านจากกรณีศึกษาของสมาชิกสมาคม

จากนั้นนำเข้าสู่กระบวนการรวบรวมรูปแบบมาตรฐานการควบคุมงานก่อสร้าง และมาตรฐานการทำงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน และเข้าสู่ส่วนของการจัดทำร่างมาตรฐานตามกรอบแนวคิดตามหลักการประกันคุณภาพ รวมทั้งปรับปรุงมาตรฐานให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานของสมาชิก โดยการประชุมระดมความคิดเห็นร่วมกันระหว่างคณะทำงานและผู้เชี่ยวชาญต่างๆ

“ในมาตรฐานฯ ฉบับนี้จะมีการระบุข้อมูลของผู้ดำเนินการและหน้าที่ความรับผิดชอบ การเตรียมวัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักร ขั้นตอนการทำงาน การตรวจสอบคุณภาพ การปรับปรุงแก้ไข และข้อควรระวัง เป็นต้น โดยการออกแบบเฉพาะเพื่องานการก่อสร้างบ้านสำหรับสมาชิกของสมาคมฯ และเตรียมประกาศใช้ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะส่งผลดีในหลายฝ่ายด้วยกัน ทั้งบริษัทรับสร้างบ้าน ผู้บริโภค และอุตสาหกรรมก่อสร้างในภาพรวม” นายวรวุฒิ กล่าว

ด้าน รศ.ดร.ธนิต ธงทอง คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในฐานะที่ปรึกษาการพัฒนา ว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้างบ้านจำเป็นต้องมีมาตรฐานในการทำงาน เพื่อช่วยให้ผู้รับเหมาสามารถพัฒนากระบวนการทำงานและลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากผู้ปฏิบัติงาน เนื่องจากงานบ้านเป็นงานฝีมือและจำเป็นต้องใช้ทักษะ รวมทั้งการบริหารจัดการในการทำให้งานก่อสร้างบ้านมีคุณภาพให้เป็นไปตามความต้องการของเจ้าของโครงการ นอกจากนี้มาตรฐานดังกล่าวยังช่วยให้เจ้าของโครงการมีความเชื่อมั่นในการทำงานของผู้รับเหมารับสร้างบ้าน