เมื่อคิดถึงการจะสร้างบ้านสักหลัง ไม่ว่าบ้านหลังนั้นจะใหญ่หรือเล็ก คงมีคำถามผุดขึ้นมาในหัวมากมาย หลายคนครุ่นคิดวนเวียนอยู่กับคำถามเดิมซ้ำ ๆ สุดท้ายก็ยังจับต้นชนปลายไม่ได้สักที ว่าบ้านที่ตอบโจทย์ความต้องการจะเป็นอย่างไร หรือบางคนเหมือนจะได้คำตอบ แต่ก็กลับไม่แน่ใจ วันนี้มีคำตอบสำหรับ 5 คำถามสุดฮิตที่คนคิดจะบ้านมักพบเจอมาฝาก
1.จะต้องเริ่มต้นอย่างไร
เจ้าของบ้านส่วนใหญ่มักจะเริ่มต้นด้วยการเลือกรูปร่างหน้าตาของบ้าน จากนั้นจึงค่อยพิจารณาลงลึกในรายละเอียดของการใช้งานพื้นที่และวัสดุ ปัญหาที่ต้องเจอหากเริ่มต้นแบบนี้ คือมีความไม่สอดคล้องกันของการใช้งานกับขนาดสัดส่วน รูปร่างหน้าตาของบ้านในภายหลัง ทางที่ดีควรเริ่มจากการสำรวจความต้องการของสมาชิกภายในบ้านก่อน ทั้งความต้องการใช้งานและด้านความสวยงาม ซึ่งเมื่อรวบรวมมาได้ส่วนหนึ่งจะถูกแปลงไปเป็นขนาดพื้นที่ใช้สอย ทำให้ขนาด สัดส่วน รูปร่างหน้าตา สอดคล้องกับการใช้งาน อีกทั้งขนาดพื้นที่ใช้สอยยังสามารถนำมาตั้งต้นประเมินค่าใช้จ่ายในงานออกแบบก่อสร้างอย่างคร่าวๆ ได้อีกด้วย
2.จะต้องเตรียมงบประมาณเอาไว้เท่าไหร่
เราสามารถประเมินค่าใช้จ่ายในการสร้างบ้านได้ตั้งแต่ต้น ซึ่งตัวเลขเบื้องต้นที่ได้มานั้น จะมีความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงค่อนข้างมาก แต่จะทำให้เจ้าของบ้านเห็นวงเงินงบประมาณที่ต้องเตรียมเอาไว้ใช้จ่ายได้ในภาพรวมได้ โดยรายละเอียดค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียมไว้ จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ค่าออกแบบ และ ค่าก่อสร้าง
อัตราค่าออกแบบ ส่วนมากจะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของค่าก่อสร้าง โดยสมาคมสถาปนิกกำหนดมาตรฐานค่าก่อสร้างบ้านพักอาศัยไว้ที่ 7.5% ของค่าก่อสร้าง โดยค่าออกแบบจะมากหรือน้อย นอกจากจะขึ้นอยู่กับพื้นที่ก่อสร้างแล้วยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ความยากง่ายของแบบ, ระดับของการให้บริการ, ความน่าเชื่อถือ เป็นต้น
อัตราค่าก่อสร้าง มักจะแตกต่างกันตามข้อจำกัดของสภาพที่ตั้ง สภาพแวดล้อม, ความยากง่ายในงานก่อสร้าง, ค่าจ้างแรงงาน, ค่าวัสดุก่อสร้าง และค่าดำเนินงานของผู้รับเหมา
แต่หากต้องการตัวเลขค่าใช้จ่ายที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากขึ้น จำเป็นจะต้องดำเนินการออกแบบให้แล้วเสร็จก่อน จากนั้นจึงทำการคิดคำนวณค่าก่อสร้างจากการถอดปริมาณวัสดุ และปริมาณเนื้องาน ออกมาจากแบบก่อสร้าง รวมกับค่าดำเนินงานของผู้รับเหมา เพื่อเป็นราคารวมทั้งหมด ซึ่งวิธีนี้เราก็จะได้ค่าก่อสร้างที่ใกล้เคียงความจริง รวมถึงเห็นค่าใช้จ่ายแยกตามรายการงานแต่ละส่วนอย่างชัดเจน หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ BOQ (Bill of Quantity) นั่นเอง
3.จะต้องเลือกใช้วัสดุอย่างไร
การเลือกใช้วัสดุ เป็นหนึ่งขั้นตอนในงานออกแบบที่ทางสถาปนิกจะทำหน้าที่ช่วยเหลือเจ้าของงานเลือกวัสดุเพื่อนำมาใช้ในงานก่อสร้างได้อย่างเหมาะสม ตรงตามความต้องการทั้งด้านการใช้งาน ความสวยงาม และการควบคุมงบประมาณ ในกรณีที่เจ้าของงานจะต้องเลือกวัสดุด้วยตัวเอง ควรศึกษา และทำการเปรียบเทียบคุณสมบัติ ความยากง่ายในการใช้งาน ราคา รวมถึงพิจารณาความยากง่ายในการจัดหามาซ่อมแซมเมื่อเกิดการชำรุดในภายหลังเอาไว้ด้วย
ในปัจจุบันเพื่ออำนวยความสะดวก และเป็นทางเลือกใหม่ให้กับเจ้าของงาน ผู้ผลิตสินค้าวัสดุก่อสร้างจึงมักจะมีบริการสินค้าพร้อมงานติดตั้งในรูปแบบของ Solution งานส่วนต่างๆ ของบ้าน ให้เจ้าของงานเลือกใช้แทนการขายแค่ตัววัสดุก่อสร้างเป็นชิ้นๆ แถมยังมีการรับประกันงานติดตั้ง ช่วยลดความกังวลหลังงานก่อสร้าง เช่น งานมุงกระเบื้องหลังคา, งานติดตั้งประตูหน้าต่างไวนิล, งานจัดสวนปูทางเดิน, งานติดตั้งฉนวนกันความร้อน และ งานปรับปรุงห้องน้ำ เป็นต้น
4.จะต้องใช้ระยะเวลายาวนานแค่ไหน
การสร้างบ้านสักหลังจะใช้ระยะเวลานานแค่ไหน สามารถพิจารณาจากระยะเวลาที่ใช้ในงานออกแบบ หรือระยะเวลาที่ใช้ในการจัดหาแบบก่อสร้างบ้าน รวมเข้ากับระยะเวลาที่ใช้ในงานก่อสร้างบ้าน โดยปกติสถาปนิกมักจะใช้ระยะเวลาในงานออกแบบบ้านตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป บ้านบางหลังที่เจ้าของบ้านพิถีพิถันในงานออกแบบอาจจะใช้ระยะเวลาในการออกแบบยาวนานมากกว่าหนึ่งปีเลยทีเดียว
ในส่วนของงานก่อสร้างถ้านับระยะเวลาที่ใช้ตั้งแต่จัดหาผู้รับเหมา ทำเรื่องขออนุญาตก่อสร้างกับทางราชการ จนถึงงานก่อสร้างบ้านแล้วเสร็จ ยกตัวอย่างบ้านที่มีรูปแบบเรียบง่ายไม่มีรายละเอียดงานก่อสร้างที่ซับซ้อน มักจะใช้ระยะเวลาดำเนินงานประมาณ 8–12 เดือน โดยยังไม่รวมระยะเวลาของงานตกแต่งภายในและการจัดสวนรอบบ้าน
5.จะลดปัญหากับผู้รับเหมาระหว่างงานก่อสร้างได้อย่างไร
ปัญหาส่วนใหญ่ที่เจ้าของงานไม่อยากพบเจอในช่วงงานก่อสร้าง ได้แก่ งานก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามกำหนด ไม่เป็นไปตามข้อตกลง ผู้รับเหมาทิ้งงาน, คุณภาพงานก่อสร้างไม่ตรงตามความคาดหวัง งานไม่ตรงแบบ งานไม่เรียบร้อย, งานก่อสร้างยืดเยื้อ ปรับแก้แบบหน้างาน ทำให้ค่าใช้จ่ายบานปลาย ฯลฯ
ปัญหาเหล่านี้มักทำให้งานก่อสร้างสะดุด เจ้าของงาน และช่างผู้รับเหมารู้สึกกังวลใจ แต่ปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นสามารถควบคุมดูแลได้ด้วยการมีแบบก่อสร้างคุณภาพดี มีรายละเอียดงานก่อสร้างครบถ้วน, มีคนคอยควบคุมงานก่อสร้างพร้อมมีทีมช่างก่อสร้างที่มีประสบการณ์ เอาใจใส่คอยติดตามตรวจสอบแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ก่อนที่จะลุกลามเป็นปัญหาใหญ่ และที่สำคัญเจ้าของงาน กับช่างผู้รับเหมาจะต้องรับรู้และมีความเข้าใจเนื้อหาของแบบและงานก่อสร้างไปในทิศทางเดียวกัน มีการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน ต่อกันโดยตลอดระหว่างงานก่อสร้าง เพียงเท่านี้งานก่อสร้างก็จะดำเนินไปได้อย่างราบรื่น
ที่มา : SCG HOME