ขึ้นชื่อว่าน้ำพริก หลายคนคุ้นชื่อและคุ้นลิ้นดี  โดยไทยพีบีเอส จัดเสวนา “ในรอยรสพริก” ตามเส้นทางประวัติศาสตร์ของพริกในไทย พร้อมชิมน้ำพริก 4 ภาค อาหารรสจัดจ้านด้วยวิถีอัตลักษณ์ไทย ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์รสแซ่บ สู่เรียลลิตี้   ด้วยวิถีอัตลักษณ์ไทย ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์รสแซ่บ สู่เรียลลิตี้ “ยกพลคนน้ำพริก” โชว์นิทรรศการเจาะลึกความเผ็ด และร่วมถอดรหัสรส Workshop Sensory Test สร้างความยั่งยืน และความมั่นคงทางอาหาร

 

รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. กล่าวว่า ในปี 2567 องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส ได้กำหนดวาระหลักในการขับเคลื่อนประเด็นซอฟต์พาวเวอร์ หรือที่ไทยพีบีเอส ใช้ชื่อว่า ภาคภูมิไทย (Soft Power) ภายใต้แคมเปญใหญ่ More than TV #เป็นมากกว่าสถานีโทรทัศน์ เพื่อสนับสนุนทุนทางวัฒนธรรมของไทย และเป็นส่วนหนึ่งในการนำความภาคภูมิทางวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่น ชุมชน รวมถึงกลุ่มต่างชาติพันธุ์ ไปเป็นความภาคภูมิใจของคนทั้งประเทศ และยกระดับสู่สากล โดยมีศูนย์สื่อศิลปวัฒนธรรม ไทยพีบีเอส เป็นกำลังสำคัญในการร่วมกันผลักดัน “น้ำพริกไทย” ไปสู่อาหารเครื่องจิ้มในระดับสากล และเหตุที่เลือก “น้ำพริก” เพราะเป็นอาหารที่อยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน ในทุกยุคทุกสมัย ในทุกครัวเรือน ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจาก การที่ทุกภูมิภาคของประเทศไทยต่างมีน้ำพริกในภูมิภาคของตัวเอง มากกว่านั้น “น้ำพริก” ยังเป็นอาหารที่สะท้อนวัฒนธรรมการกินของคนใน ชุมชน สังคม ทรัพยากรที่มีความหลากหลาย วัฒนธรรมความเป็นอยู่ การสร้างความยั่งยืนและความมั่นคงทางอาหาร

 

สำหรับการจัดงานเสวนา “ในรอยรสพริก” ที่ทางไทยพีบีเอส โดยศูนย์สื่อศิลปวัฒนธรรม และสำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ร่วมผลักดันน้ำพริกไทย ไปสู่อาหารเครื่องจิ้มในระดับสากล จัดกิจกรรมเสวนา “ในรอยรสพริก” รวมผู้เชี่ยวชาญด้าน “น้ำพริก” ในหลากหลายด้าน ทั้งด้านประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญา และความหลากหลายของนิเวศน้ำพริกร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อขับเคลื่อนองค์ความรู้ สร้าง และกระตุ้นให้เกิดการรับรู้เกี่ยวกับน้ำพริก และ นิทรรศการ WORKSHOP SENSORY TEST ถอดรหัสรส ชิมน้ำพริกจากแม่ครัวระดับตำนาน

 

โดยเวทีเสวนา “ในรอยรสพริก”  จัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 67 เวลา 10.00 – 16.30 น. ณ ไทยพีบีเอส ถนนวิภาวดีรังสิต

ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญท่ามกลางศาสตร์ “น้ำพริก” มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แบ่งปันประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับน้ำพริกในมิติที่หลากหลาย ได้แก่ คุณกฤช เหลือลมัย นักโบราณคดี นักเขียน คอลัมนิสต์ และผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์อาหาร, คุณอนุสรณ์ ติปยานนท์ Food Activist นักเขียนและผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารในมิติประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม, รศ.ดร.วีระศักดิ์ สุระเรืองชัย นักวิจัยหัวหน้าโครงการ “เครื่องวัดความเผ็ด”, คุณจิรัศยา บุญคน แม่ครัวงานบุญ กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง หนองหญ้าปล้อง, คุณสนชัย อุ่ยเต็กเค่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุดิบอาหารพื้นถิ่น เมืองระนอง และ คุณโตมร ศุขปรีชา นักเขียนและคอลัมนิสต์ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการเสวนาในครั้งนี้ด้วย

 

 นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม Workshop ทดสอบประสาทสัมผัสด้วย Sensory Test ถอดรหัสรส & กลิ่น เรียนรู้เกี่ยวกับน้ำพริก ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 ปฏิกิริยาสะท้อนผ่านน้ำพริกถ้วยโปรด จับคู่เครื่องเคียงที่คู่ควรกับน้ำพริก โดย คุณอนุสรณ์ ติปยานนท์ Food Activist นักเขียนและผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารในมิติประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม และ คุณสริยา กัมปนาทแสนยากร Wine Educator

ภายในงาน ยังมีกิจกรรมอีกมากมาย อาทิ นิทรรศการประวัติศาสตร์ “น้ำพริก” เล่าเรื่องการเดินทางของพริกสู่ประเทศไทย “คนไทย” เริ่มกินพริกตั้งแต่เมื่อไร ทำความรู้จักเครื่องเทศท้องถิ่นที่ให้รสเผ็ด วัตถุดิบให้ความเผ็ดร้อนก่อนการเข้ามาของพริก และตัวอย่างน้ำพริกจาก 4 ภาค, นิทรรศการ/สาธิต เครื่องวัดความเผ็ด ว่าความเผ็ดคือรสชาติหรือแค่ความรู้สึก? ชวนมาไขปริศนาของ “แคปไซซิน” (Capsaicin) สารกระตุ้นที่อยู่ใน “พริก” ที่ทำให้เรารู้สึกเจริญอาหารยามรับรสเผ็ด ให้ความอร่อยจัดจ้านอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ และบูธกิจกรรม ปักหมุด “ถิ่นน้ำพริกไทย กับ C -Site” หมุดหมายที่จะทำให้ได้รู้ว่า น้ำพริกในประเทศไทยมีความหลากหลาย ทั้งรสชาติ วัตถุดิบ ที่สามารถสะท้อนถึงอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ได้อย่างชัดเจน