สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (HBA : Home Builder Association) เปิดตัว “อนันต์กร อมรวาที” นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านคนใหม่ พร้อมโชว์วิสัยทัศน์ แนวทางรับมือกับความท้าทายจากการแข่งขันในปัจจุบันและอนาคต ชูภาระกิจหลัก 3 ด้าน “B-Q-O” นำทัพองค์กรสร้างความรับรู้ – เข้าใจ – เข้าถึง “ผู้บริโภค”
นายอนันต์กร อมรวาที นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (Home Builder Association : HBA) กล่าวว่า จากข้อมูลของสมาชิกสมาคมฯ พบว่าตลาดรับสร้างในปี 2567 มีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ในปี 2568 ซึ่งเป็นปีแรกที่เข้ามารับตำแหน่งนายกสมาคมฯ (วาระปี 2568 – 2570) คาดว่าจากภาวะด้านเศรษฐกิจ การเมือง รวมทั้งผลกระทบจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ประเทศสหรัฐอเมริกาของดอนัลด์ ทรัมป์ จะส่งผลให้ปี 2568 เป็นอีกปีที่ตลาดรับสร้างอยู่ในสถานการณ์ที่ท้าทาย โดยคาดว่าตลาดรับสร้างบ้านในส่วนของสมาชิกสมาคมฯ จะมีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท เท่ากับปี 2567
โดยหากประเมินจากการแบ่งเซ็กเมนต์ตามระดับราคา ในเซ็กเมนต์บ้านต่ำกว่า 5 ล้านบาท คาดว่ากำลังซื้อในกลุ่มนี้เกิดการชะลอตัวและหดตัวลง จากปัจจัยหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ที่เป็นผลมาจากค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ขณะที่เซ็กเมนต์บ้านระดับราคา 5 – 10 ล้านบาท ได้รับผลกระทบรองลงมา เนื่องจากการพิจารณาสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ยากขึ้น ส่งผลให้การยื่นขอสินเชื่อได้รับการปฏิเสธ หรืออนุมัติแต่ไม่เต็มวงเงินที่ต้องการ
ด้านเซ็กเมนต์ระดับราคาบ้าน 10 – 20 ล้านบาท ได้รับผลกระทบปานกลาง เนื่องจากความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจอาจจะส่งผลกระทบทางอ้อม ทำให้ชะลอการตัดสินใจปลูกสร้างบ้านออกไป ส่วนเซ็กเมนต์บ้าน 20 ล้านบาทขึ้นไป เป็นตลาดที่ได้รับผลกระทบน้อย เนื่องจากกลุ่มนี้เป็นกลุ่มผู้มีเงินออมอยู่แล้ว แต่ด้วยความไม่มั่นใจสถานการณ์การเมือง และเศรษกิจ ทำให้มีผู้บริโภคบางส่วนชะลอการตัดสินใจออกไปบ้าง
สำหรับในปี 2568 นายอนันต์กร ชี้ว่าเป็นปีที่ผู้ประกอบธุรกิจรับสร้างบ้านต้องช่วยเหลือตนเอง โดยมุ่งสร้างการรับรู้ตลอดจนให้ความสำคัญกับคุณภาพของงานรับส้างบ้าน ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์และการขับเคลื่อนสมาคมฯ ในวาระปี 2568 – 2570 ที่จะมุ่งสร้างการยอมรับและความน่าเชื่อถือให้กับผู้บริโภคทั่วประเทศ โดยขับเคลื่อนภายใต้ภาระกิจหลักใน 3 ด้าน “B-Q-O” ซึ่งประกอบด้วย
B (Brand Awareness) การสร้างความรับรู้การทำงานของธุรกิจรับสร้างบ้าน สินค้าและบริการ จากบริษัทสมาชิกเป็นอย่างไร มีความแตกต่างกับธุรกิจก่อสร้าง หรือธุรกิจอสังหาฯ อื่นๆ เช่น การสร้างบ้านพร้อมขายอย่างไร สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ส่งมอบคุณค่าสินค้าและบริการ ให้ผู้บริโภคได้อย่างไรบ้าง โดยการสื่อสารจะทำผ่านช่องทางสื่อใหม่ๆ เพื่อสร้างการรับรู้ เข้าใจ เข้าถึง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคในการใช้บริการกับบริษัทรับสร้างบ้านที่เป็นสมาชิกฯ ซึ่งกระจายตัวอยู่ในทั่วประเทศมากยิ่งขึ้น
Q (Quality) มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพสมาชิก ด้วยการคัดเลือกบริษัทสมาชิกที่มีคุณภาพจากทั่วประเทศ ส่งต่อการให้ความรู้ผ่านการฝึกอบรมต่างๆ พัฒนางานด้านวิชาการ โดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษา เช่น การสร้างคู่มือมาตรฐานการก่อสร้างกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งสามารถนำผลงานวิชาการเหล่านั้นมาปรับใช้ในเรื่องการก่อสร้างให้มีมาตรฐานคุณภาพของงาน และการส่งต่อการบริการของผู้บริโภคให้ดียิ่งขึ้น เป็นต้น
O (Organization) การพัฒนาระบบเก็บข้อมูลสมาชิกของสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านให้มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานในอุตสาหกรรม รวมทั้งเสริมขีดความสามารถทางธุรกิจ การแข่งขัน และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคให้ตรงกับความต้องการมากขึ้น
“สมาคมฯ เดินหน้าสร้างการยอมรับจากผู้บริโภคทั่วประเทศให้มากขึ้น โดยเน้นย้ำถึงคุณภาพมาตรฐานสินค้าการให้บริการของบริษัทรับสร้างบ้านที่เป็นสมาชิก ซึ่งมีพร้อมรองรับการขยายตัวของตลาด ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และพื้นที่ต่างจังหวัด เพราะความต้องการของผู้บริโภคในการสร้างบ้านมีหลากหลายระดับราคา เราต้องตีโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคให้ออก และตอบโจทย์ ผู้บริโภคให้ได้ เชื่อว่าภายใต้แนวคิดและการขับเคลื่อนตามภาระกิจดังกล่าว จะสร้างการรับรู้ เข้าใจ และเกิดการยอมรับจากผู้บริโภคทั่วประเทศมากขึ้น” นายอนันต์กร กล่าว
ทั้งนี้ ในกรณีที่มาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ‘ล้านละหมื่น’ สำหรับผู้ที่ต้องการปลูกสร้างบ้าน (บ้านมูลค่า 1 ล้าน หักลดหย่อนได้ 10,000 บาท และสามารถหักลดหย่อนสูงสุดไม่เกิน 1 แสนบาท) กำลังจะสิ้นสุดในปีนี้ นายอนันต์กร แสดงความคิดเห็นว่าว่า มาตรการดังกล่าวมีส่วนช่วยในการกระตุ้นตลาดรับสร้างบ้านได้บ้าง แต่หากมีการขยายเพดานลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ‘ล้านละหมื่น’ สูงสุดจาก 1 แสนบาท เป็น 5 แสนบาท ซึ่งจะครอบคลุมการปลูกสร้างบ้านในราคาที่สูงขึ้น (ถึงราคา 50 ล้านบาท) ก็น่าจะยิ่งเป็นการช่วยกระตุ้นตลาดรับสร้างบ้านได้มากขึ้น ซึ่งในส่วนของสมาคมฯ เองก็จะพยามช่วยเป็นกระบอกเสียงเสนอแนะมาตรการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อตลาดรับสร้างบ้านไปยังรัฐบาล และเพื่อให้เสียงที่เสนอไปเห็นผลมากยิ่งขึ้น ก็จะพยายามเพิ่มขนาดตลาดรับสร้างบ้านของสมาชิกสมาคมฯ ทั่วประเทศให้มากขึ้น ผ่านวิสัยทัศน์ “B-Q-O” ซึ่งคาดว่าขนาดตลาดจะก้าวสู่ 20,000 ล้านบาทได้ภายใน 10 ปี