FPT รุกสร้างการเติบโตเต็มสูบ ประเมินตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยยังมีแรงบวก แต่ต้องระวังปัจจัยเสี่ยงจากใน-นอกประเทศ เชื่อมั่นพอร์ต โฟลิโอแข็งแกร่ง ตั้งเป้าปี 70 โกยรายได้ กว่า 30,000 ล้าน

นายธนพล ศิริธนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ FPT” กล่าวถึงผลประกอบการของบริษัทในปี 2566 ว่า บริษัทสามารถทำยอดขายในส่วนของธุรกิจที่อยู่อาศัยได้ 12,190 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากปี 2565 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่มีความท้าทายทั้งในภาคการท่องเที่ยวและหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่บริษัทมียอดโอนกรรมสิทธิ์ 11,004 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 2565 ในส่วนของธุรกิจกลุ่มอุตสาหกรรม ในปี 2566 บริษัทมีพื้นที่โรงงานและคลังสินค้า ภายใต้การบริหารจัดการ 3.5 ล้านตร.ม. และมีอัตราการเช่า 86% ส่วนธุรกิจอาคารสำนักงาน ปัจจุบันมีอัตราการเช่า 93% ทำให้ในปี 2566 บริษัทมีรายได้รวม 16,809 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้า 2.1% และมีกำไรสุทธิ 1,852 ล้านบาท

ด้านทิศทางธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ปีนี้ นายธนพล แสดงความคิดเห็นว่า ได้รับแรงขับเคลื่อนจากการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวที่ส่งผลให้ภาคเอกชนมีการบริโภคเพิ่มขึ้น บวกกับภาครัฐที่ออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและตลาด
อสังหาริมทรัพย์อย่างมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง รวมถึงนักลงทุนต่างชาติที่หลั่งไหลตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตาปัจจัยกดดันทางเศรษฐกิจ อาทิ ภาวะเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย หนี้ครัวเรือน และปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน และความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ฮามาส และจีน-ไต้หวัน

นายธนพล ยังได้กล่าวอีกว่า หากพิจารณาแยกตามประเภทสินค้า จะพบว่าตลาดบ้านเดี่ยว ในมีการเปิดตัวโครงการมากขึ้น ขณะที่อัตราการดูดซับไม่ได้มากขึ้นตามไปด้วย จึงคาดว่าในอีก 2-3 ปี ตลาดบ้านเดี่ยวอาจจะชะลอตัวลง ขณะที่ตลาดทาวน์เฮาส์ในระดับราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท เชื่อว่าได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว เนื่องจากอาจมีปัญหาเรื่องการกู้ไม่ผ่าน อย่างไรก็ตามยังเป็นอสังหาฯ ที่ยังมีความต้องการซื้อ ซึ่งหากแก้ไขปัญหาการกู้ไม่ผ่านได้ อีก 2-3 ปี ตลาดก็น่าจะกลับมา และสำหรับตลาดโรงงานและคลังสินค้า นับเป็นธุรกิจที่น่าจับตามอง และทุกคนกำลังเข้ามาในตลาดนี้ นโยบายไชน่าพลัสวัน ทำให้พื้นที่โรงงานและคลังสินค้ายังมีความต้องการ โดยในส่วนของผู้ผลิตอาจจะเข้ามาเช่าพื้นที่ก่อน และอีก 2-3 ปี ซัพพลายเออร์ที่เกี่ยวข้องก็จะตามเข้ามาเช่าพื้นที่โรงงานและคลังสินค้าด้วย และสำหรับตลาดอาคารสำนักงาน ในอีก 3  ปี คาดว่าจะมีซัพพลายเข้ามาอีก 1.8 ล้านตร.ม. หรือปีละประมาณ 500,000 ตร.ม. แต่มีอัตราดูดซับ 250,000 ตร.ม. การแข่งขันในธุรกิจนี้จึงค่อนข้างสูง

“แม้จะเผชิญหน้ากับความท้าทายหลายด้าน แต่ FPT ยังคงความสามารถในการสร้างการเติบโตอย่างมั่นคง ด้วยแผนกลยุทธ์ที่มีความยืดหยุ่น มีฐานการเงินที่แข็งแกร่ง และมีธุรกิจที่หลากหลายซึ่งสามารถสร้างรายได้อย่างสมดุลจากการขายและให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ทำให้มีกระแสรายได้ต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าว่าในปี 2570 บริษัทจะสร้างรายได้กว่า 30,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสัดส่วนสินทรัพย์ที่สร้างรายได้จากการขายและรายได้ประจำอยู่ที่ 40:60 สะท้อนถึงความพร้อมในการเติบโตระยะยาวภายใต้การเป็นแบรนด์อสังหาริมทรัพย์ชั้นนำระดับโลกที่มีทีมงานมากประสบการณ์และความชำนาญหลายด้าน พร้อมต่อยอดในการพัฒนาสินค้าและบริการคุณภาพสูงที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการของลูกค้าและผู้ใช้งานทุกกลุ่ม”

นายสมบูรณ์ วศินชัชวาล รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม (ประเทศไทย) กล่าวเสริมว่า ในปี 2566 ในส่วนของผลประกอบการของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของบริษัท มียอดขาย 24,926 ล้านบาท เติบโตขึ้น 4.4% จากปีก่อนหน้า ขณะที่มีรายได้ 11,004 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 5% โดยสัดส่วนรายได้มาจากการขายสินค้าในกลุ่มบ้านเดี่ยว 40% บ้านแฝด 24% และทาวน์โฮม 36% ในขณะที่ในปี 2567 บริษัทตั้งเป้าธุรกิจที่อยู่อาศัยสร้างยอดขาย 23,750 ล้านบาท และทำรายได้กว่า 13,000 ล้านบาท โดยมาจากโครงการบ้านเดี่ยว 47% บ้านแฝด 21% และทาวน์โฮม 21%  โดยมีแผนเปิดตัว 7 โครงการใหม่ มูลค่ารวมกว่า 11,600 ล้านบาท เดินหน้าต่อเนื่องกับการจับตลาดบ้านเดี่ยวและบ้านลักชัวรี่แม้ตลาดบ้านเดี่ยวมีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่ยังมีความต้องการและธนาคารปล่อยสินเชื่อง่ายกว่า โดยใน 7 โครงการใหม่ แบ่งเป็นโครงการบ้านลักชัวรี่ ราคา 15-40 ล้านบาท 2 โครงการ มูลค่า 3,700 ล้านบาท บ้านเดี่ยว ราคา 7-15 ล้านบาท 3 โครงการ มูลค่า 6,500 ล้านบาท บ้านแฝด ราคา 5-7 ล้านบาท 1 โครงการ มูลค่า 950 ล้านบาท และคอนโดมิเนียมราคา 3.5 ล้านบาท 1 โครงการ มูลค่า 450 ล้านบาท  

พร้อมสร้างกระแสรายได้จากค่าเช่าให้เติบโตแข็งแกร่งผ่านธุรกิจโรงงานและคลังสินค้าที่จะลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาทในการขยายพื้นที่ภายใต้การบริหารจัดการอีก 150,000 ตร.ม. เพิ่มจากปัจจุบันที่ 3.5 ล้านตร.ม. ทั้งในไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ด้วยเป้าหมายอัตราการเช่าอยู่ที่ 87% พร้อมมีแผนลงทุนต่อเนื่องเพื่อมุ่งสู่พื้นที่ภายใต้การบริหารจัดการ 4 ล้านตร.ม. ในอีก 2 ปี นอกจากนี้ ยังมุ่งมั่นยกระดับการให้บริการอาคารสำนักงานเกรดเอย่าน CBD และพื้นที่รีเทลอย่างสามย่านมิตรทาวน์และสีลมเอจที่เชื่อมั่นว่าจะสามารถรักษาอัตราการเช่าในระดับสูงที่ 93%