ทิพยประกันภัย หรือ TIP โชว์กำไรไตรมาส 3 ที่ 470.05 ล้านบาท เติบโต 253.40% จากไตรมาสก่อนหน้า พร้อมโชว์เบี้ยประกันภัยรับ 9 เดือน แตะ 2.2 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งในทุกประเภทผลิตภัณฑ์ พร้อมเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงช่องทางการขายร่วมกับพันธมิตร สนับสนุนการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างยั่งยืน ขณะที่ TIPH เตรียมส่งบริษัท มีที่ มีเงิน และ InsurVerse สร้างมิติใหม่ให้กับธุรกิจ Non-Bank และธุรกิจประกันภัยดิจิทัล ภายในสิ้นปีนี้
ดร.สมพร สืบถวิลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TIPH และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ TIP เปิดเผยผลการดำเนินงานของ ทิพยประกันภัย ในไตรมาส 3/2565 เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีกำไรสุทธิ 470.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 776.47 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 253.40 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และ เพิ่มขึ้นจำนวน 85.43 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 22.21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเบี้ยประกันภัยรับของบริษัทฯ ยังคงขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง ประกอบกับผลกระทบจากค่าสินไหมทดแทนสำหรับประกันภัยโควิดได้สิ้นสุดลงแล้ว
ทั้งนี้ TIP มีเบี้ยประกันภัยรับรวมในไตรมาส 3/2565 ถึง 7,307.80 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 917.94 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 14.37 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้น 1,248.11 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20.60 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้เบี้ยประกันภัยรับรวมของบริษัทฯ สำหรับงวด 9 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2565 เพิ่มขึ้น 2,392.34 ล้านบาท มาอยู่ที่ 21,790.15 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 12.33 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีการเพิ่มขึ้นของเบี้ยประกันภัยรับในทุกผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วยเบี้ยประกันอัคคีภัย เติบโตร้อยละ 43.51 เบี้ยประกันภัยทางทะเลและขนส่ง เติบโตร้อยละ 24.95 เบี้ยประกันภัยรถยนต์ เติบโตร้อยละ 23.65 และเบี้ยประกันภัยเบ็ดเตล็ด เติบโตร้อยละ 4.87
ดังนั้น จากผลการดำเนินงานที่เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในไตรมาส 3/2565 ส่งผลให้กำไรสุทธิของ TIP สำหรับงวด 9 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2565 อยู่ที่ 806.25 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับกำไรสุทธิสำหรับงวด 6 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ซึ่งมีกำไรสุทธิ จำนวน 336.21 ล้านบาท
ทั้งนี้ในส่วนของการดำเนินงานภายใต้แผนธุรกิจของ TIP บริษัทฯจะยังคงเดินหน้าในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการที่ตอบสนองและตรงกับความต้องการของลูกค้า รวมถึงการพัฒนาช่องทางการขายร่วมกับพันธมิตรและยกระดับการให้บริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการขยายตัว และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างยั่งยืนในธุรกิจรับประกันภัย
ในส่วนของ ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ TIPH ดร.สมพร ระบุว่าการลงทุนของบริษัทฯ ที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 เริ่มที่จะสะท้อนผลการดำเนินงานที่โดดเด่นตามที่บริษัทฯตั้งเป้าหมายไว้แล้ว โดยที่ผลการดำเนินงานปกติของบริษัทย่อยภายใต้กลุ่มธุรกิจสนับสนุนประกันภัย (Insurance Supported Business) ได้แก่บริษัท อะมิตี้ อินชัวร์รันซ์ โบรคเกอร์ จำกัด หรือ Amity มีกำไรสุทธิสำหรับงวด 9 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2565 อยู่ที่ 11.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.4 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 83.07 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากความร่วมมือกับพันธมิตรรายใหญ่ ในการขยายฐานลูกค้าเพิ่มมากขึ้น และบริษัท ดีพี เซอร์เวย์ แอนด์ลอว์ จำกัด หรือ DP Survey มีกำไรสุทธิสำหรับงวด 9 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2565 อยู่ที่ 19.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.8 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 140.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากรายได้จากการสำรวจภัยเพิ่มขึ้นและการจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ
ขณะที่ภายในสิ้นปีนี้ บริษัทที่ TIPH ได้เข้าลงทุนในช่วงไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมาได้แก่ บริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด และ บริษัท เอราวัณประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัทฯ มีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถเริ่มสร้างมิติใหม่ให้กับธุรกิจบริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank) และธุรกิจประกันวินาศภัยได้
โดยที่บริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด ซึ่งเกิดจากการร่วมทุนระหว่าง TIPH กับธนาคารออมสิน และบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่ง TIPH ถือหุ้น 31% คาดว่าจะเริ่มให้บริการธุรกิจแรก คือ สินเชื่อที่ดิน รับจำนองและขายฝาก ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งภายใต้ Business Model ของบริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด จะช่วยให้ประชาชน และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนถูกลงด้วยอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่เป็นธรรมอย่างแท้จริง โดยจะนำร่องเปิดให้บริการ สินเชื่อที่ดิน ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร และสมุทรปราการ
ในส่วนของ เอราวัณประกันภัย ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรและพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อประกอบธุรกิจประกันภัยดิจิทัล 100% แห่งแรกในประเทศไทยภายใต้ชื่อ InsurVerse โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ 100% ได้ภายในสิ้นปีนี้
ทั้งนี้ ดร.สมพร เชื่อมั่นว่าจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปหลังการเกิดขึ้นของ โควิด-19 และแนวโน้มของเศรษฐกิจที่ส่งสัญญาณการฟื้นตัวในหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นการบริโภค การลงทุน และการท่องเที่ยว จะส่งผลให้บริษัทฯ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการปรับตัวทั้งในแง่ของ Business Model และบุคลากรเพื่อรองรับกับสถานการณ์ดังกล่าวไว้แล้ว เพื่อที่จะสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจ และยังคงรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจวินาศภัยของไทยควบคู่ไปกับการช่วยเหลือสังคมในมิติต่างๆ สอดคล้องกับแนวคิดในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ที่ต้องการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจที่คำนึงถึงความรับผิดชอบ 3 ด้านหลัก คือ สิ่งแวดล้อม สังคม การกำกับดูแลกิจการที่ดี (ESG) เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนให้แก่ผู้ถือหุ้นต่อไป